วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560


 รูปแบบของหลักสูตร  แนวคิด รูปแบบ ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร

รูปแบบของหลักสูตร (Curriculum Design)
1.หลักสูตรแบบเน้นเนื้อหา (The Subject Matter Curriculum)
เป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งใช้ในการสอนศาสนา ละติน กรีก อาจเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเป็นศูนย์กลาง (Subject-Centered-Curriculum) ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการสอนของครูที่ใช้วิธีการ บรรยาย ปรัชญาการจัดการศึกษาแนวนี้จะยึดปรัชญาสารัตถนิยม(Essentialism)และสัจวิทยา(Perennialism)

2.หลักสูตรสหสัมพันธ์ (Correlated Curriculum)
หลักสูตรสหสัมพันธ์ คือ หลักสูตรเนื้อหาวิชาอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นหลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาวิชาของ
วิชาต่าง ๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกันมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แล้วจัดสอนเป็นเนื้อหาเดียวกัน
วิธีการดังกล่าวอาศัยหลักความคิดของนักการศึกษาที่ว่า การที่จะเรียนรู้สิ่งใดให้ได้ดีผู้เรียนต้องมีความสนใจเข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียนและมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนกับสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
เพราะฉะนั้นหลักสูตรสหสัมพันธ์จะกำหนดเนื้อวิชาใดวิชาหนึ่งหรือหมวดใดหมวดหนึ่ง แล้วนำเนื้อหาสาระวิชาที่สัมพันธ์กันมารวมไว้ด้วยกัน

3.หลักสูตรแบบผสมผสาน (Fused Curriculum or Fusion Curriculum)
หลักสูตรแบบผสมผสานเป็นหลักสูตรที่พยายามปรับปรุงข้อบกพร่องของหลักสูตรเนื้อหาวิชา เพราะฉะนั้นหลักสูตรแบบผสมผสานคือหลักสูตรเนื้อหาวิชาอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการรวมเอาวิชาย่อย ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาผสมผสานกันในด้านเนื้อหาเข้าเป็นหมวดหมู่

4. หลักสูตรแบบหมวดวิชาแบบกว้าง (Broad Fields Curriculum)
หลักสูตรหมวดวิชาแบบกว้างหรือหลักสูตรรวมวิชา เป็นหลักสูตรที่พยายามจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากหลักสูตรเนื้อหาวิชา ซึ่งขาดการผสมผสานของความรู้ให้เป็นหลักสูตรที่มีการประสานสัมพันธ์ของเนื้อหาความรู้ที่กว้างยิ่งขึ้น

5. หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (Social Process and Life Function Curriculum)
หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม เป็นหลักสูตรที่มุ่งแก้ไขข้อบกพร่องของหลักสูตรที่ผ่านมาด้วยการรวบรวมความรู้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยยึดกิจกรรมต่าง ๆ ของคนไทยเป็นหลัก เป็นหลักสูตรที่ถูกคาดว่ามีคุณค่ามากที่สุดสำหรับผู้เรียน การจัดหลักสูตรแบบนี้ได้ยึดเอาสังคมและชีวิตจริงของเด็กเป็นหลัก เพื่อผู้เรียนจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาวิชาในหลักสูตรกับชีวิตจริงของผู้เรียนหรือภาวะทางสังคมที่ผู้เรียนกำลังประสบอยู่ หลักการจัดหลักสูตรประเภทนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของจอห์น ดิวอี้ กับปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนาการนิยม และปรัชญาการศึกษาสาขาปฏิรูปนิยม

6. หลักสูตรกิจกรรมหรือประสบการณ์ (Activity or Experience Curriculum)
หลักสูตรกิจกรรมหรือประสบการณ์เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะแก้ไขการเรียนรู้แบบครูเป็นผู้สอนเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียนซึ่งเป็นข้อบกพร่องของหลักสูตรแบบเนื้อหาวิชา หลักสูตรแบบนี้ยึดประสบการณ์ และกิจกรรมเป็นหลักมุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนโดยวิธีการแก้ปัญหา ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการลงมือกระทำ ลงมือวางแผน เพื่อหาประสบการณ์อันเกิดจากการแก้ปัญหานั้น ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนแบบการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ( Learning by Doing)

7. หลักสูตรแบบแกน (Core Curriculum)
หลักสูตรแบบแกนเป็นหลักสูตรที่ประสานสัมพันธ์เนื้อหาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันมุ่งที่จะสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning สิ่งที่เรียนจะมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์และชีวิตของผู้เรียน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงชีวิตความเป็นอยู่มาสัมพันธ์กับการเรียนรู้ได้ เป็นหลักสูตรที่ยึดปรัชญาปฏิรูปนิยม สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในรูปแบบหลักสูตรที่ผ่านมา จึงดูเหมือนว่าหลักสูตรแบบแกนจะเป็นหลักสูตรที่รวมเอาลักษณะเด่นของหลักสูตรอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนักการศึกษาเชื่อว่าเป็นแบบที่ดีเหมาะสมที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

8. หลักสูตรบูรณาการ (Integrated Curriculum)
หลักสูตรบูรณาการเป็นหลักสูตรที่รวมประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประสบการณ์ที่คัดเลือกมาจากหลายสาขาวิชา แล้วจัดเป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของประสบการณ์ เป็นการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์สัมพันธ์และต่อเนื่องอันมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต


             การพัฒนาหลักสูตรนั้นมีแนวคิดอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมเป็นพื้นฐานอยู่เลย และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ความหมายของคำว่า การพัฒนาหลักสูตร จะรวมไปถึงการผลิตเอกสารต่างๆ สำหรับผู้เรียนด้วย (Saylor and Alexander 1974, P.7) ซึ่งระบบการพัฒนาหลักสูตรนั้นจะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตร ได้แก่ การร่างหรือพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร ได้มีนักการศึกษาหลายท่านได้พัฒนารูปแบบหลักสูตรตามแนวคิดที่แตกต่างกัน นำเสนอรูปแบบการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้

  ราล์ฟ ดับเบิลยู ไทเลอร์ (Ralph W. Tyler) ให้หลักการและเหตุผลในการสร้างหลักสูตรไว้ 4 ประการ ซึ่งเรียกว่า "Tyler's rationale" โดยเขาให้หลักเกณฑ์ไว้ว่าในการจัดหลักสูตรและการสอนนั้น ควรจะตอบคำถามที่เป็นพื้นฐาน 4 ประการ ไทเลอร์เน้นว่าคำถามจะต้องเรียงลำดับกันลงมา   ดังนั้นการตั้งจุดมุ่งหมายจึงเป็นขั้นที่สำคัญที่สุดของไทเลอร์

คำถามพื้นฐาน 4 ประการ
1.  What is the purpose of the education? (มีจุดมุ่งหมายทางการศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจะ แสวงหา)
2.  What educational experiences will attain the purposes? (มีประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้)
3.  How can these experiences be effectively organized? (จะจัดประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างไร จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ)
4.  How can we determine when the purposes are met? (จะประเมินผลประสิทธิภาพของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร  จึงจะตัดสินได้ว่าบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้)

รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของทาบา
            แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรตามรูปแบบของทาบา (Hilden Taba) มีลักษณะจากล่างขึ้นบน (grassroots approach) โดยใช้วิธีอุปนัย ทาบาเสนอไว้ว่า หลักสูตรควรมาจากครูผู้สอนมากกว่าผู้บริหารระดับสูง กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของทาบามีทั้งหมด 7 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 วิเคราะห์สภาพปัญหา สำรวจความต้องการและความจำเป็นต่างๆ ของสังคม ศึกษาพัฒนาการของผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ และธรรมชาติของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

ขั้นที่ 2 การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 1 เป็นหลัก ควรเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นแนวทางในการเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนรู้

ขั้นที่ 3 การเลือกเนื้อหาสาระ ต้องให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เนื้อหาที่คัดเลือกบรรจุลงในหลักสูตรจะต้องมีความสำคัญและถูกต้อง

ขั้นที่ 4 การจัดรวบรวมเนื้อหาสาระ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการที่จะให้ผู้เรียนได้รับความรู้ใดก่อนหลัง ซึ่งจะต้องมีความต่อเนื่องและเป็นลำดับขั้นตอน

ขั้นที่ 5 การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นการศึกษาถึงกระบวนการเรียนรู้ และวิธีการสอนแบบต่างๆ จะต้องวางแผนเลือกประสบการณ์ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระและผู้เรียน

ขั้นที่ 6 การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้เลือกแล้ว เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่บรรลุตามจุดประสงค์ที่วางไว้

ขั้นที่ 7 การประเมินผล เป็นการพิจารณาว่าหลักสูตรประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหาหรือข้อบกพร่องในขั้นตอนใด เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขต่อไป







    รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเซเลอร์และอเล็กซานเดอร์
            เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander 1981, P. 30-39) ได้เสนอแนวคิดว่า การพัฒนาหลักสูตรจะไม่ดำเนินไปในลักษณะเส้นตรง การจะเริ่มที่ขั้นตอนหรือกระบวนการก็ได้ ดังนี้
ขั้นที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และขอบเขต โดยกำหนดขอบเขตของเป้าหมายไว้ 4 ประการ คือ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนาการของบุคคล ความสามารถทางสังคม ทักษะการเรียนรู้ และความชำนาญเฉพาะด้าน

ขั้นที่ 2 การออกแบบหลักสูตร เป็นการตัดสินใจโดยใช้เป้าหมาย วัตถุประสงค์และขอบเขต พร้อมทั้งพิจารณาข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น ธรรมชาติของวิชา ความสนใจของผู้เรียน และสังคม เป็นต้น

ขั้นที่ 3 การนำหลักสูตรไปใช้ เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการนำวิธีสอนต่างๆ ที่ได้ออกแบบไว้ไปปฏิบัติวิธีการสอน รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่นำไปใช้ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการสอน

ขั้นที่ 4 การประเมินผลหลักสูตร ผู้สอนจะต้องเลือกใช้วิธีประเมินผลแบบต่างๆ เพื่อบอกความก้าวหน้าของผู้เรียน รวมทั้งประสิทธิภาพการสอน ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน รูปแบบการพัฒนาหลักสูตร










 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของโอลิวา (Oliva)
        1.จุดมุ่งหมายของการศึกษา (Aims of Educatioj ) และหลักการปรัชญาและจิตวิทยาจากการวิเคราะห์ความต้องการจะเป็นของสังคมและของผู้เรียน
         2.วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นขอุมชนที่สถานศึกษานั้นๆ ความต้องการจำเป็นของผู้เรียนในชุมชน และเนื้อหาวิชาที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน
         3. เป้าหมายของหลักสูตร (Curriculum Goals) โดยอาศัยข้อมูลจากขั้นที่ 1 และ 2
          4. จุดประสงค์ของหลักสูตร (Curiiculum Objectives) อาศัยข้อมูลจากขั้นที่ 1, 2 และ 3 แตกต่างจากขั้นที่ 3 คือมีลักษณะเฉพาะเจาะจงเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้หลักสูตร และการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร
          5. รวบรวมและนำหลักสูตรไปใช้ (Organization and Implementation of the curriculum) เป็นขั้นของการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร
          6. กำหนดเป้าหมายของการสอน (Instructional Goals) ของแต่ละระดับ
          7. กำหนดจุดประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน (Instructional Objectives) ในแต่ละรายวิชา
          8. เลือกยุทธวิธีในการสอน (Selection of Strategies) เป็นขั้นที่ผู้เรียนเลือกยุทธวิธีที่เหมาะสม
          9. เลือกเทคนิควิธีการประเมินผลก่อนที่นำไปสอนจริง คือ 9A (Preliminary selection of evaluation techniques) และกำหนดวิธีการประเมินผลหละงจากกิจกรรมการเรียนการสอนสิ้นสุด คือ 9B (Find selection of evaluation techniques)
          10. นำยุทธวิธีไปปฏิบัติจริง (Implementation of Strategies) เป็นขั้นของการใช้วิธีการที่กำหนดในขั้นที่ 8
          11. ประเมินผลการจัดการเรียนการสอน (Evaluation of Instruction) เป็นขั้นที่เมื่อการดำเนินการจัดการเรียนการสอนเสร็จสิ้น ก็มีการประเมินผลตามที่ได้เลือกหรือกำหนดวิธีการประเมินในขั้นที่ 9
          12. ประเมินหลักสูตร (Evaluation of curriculum) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้วงจรครบถ้วน การประเมินผลที่มิใช่ประเมินผู้เรียนและผู้สอน แต่เป็นการประเมินหลักสูตรที่จัดทำขึ้น

สงัด อุทรานันท์ มีความเห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรมีความครอบคลุมถึงการร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นด้วย การใช้หลักสูตรและการประเมินหลักสูตรนั้น เป็นกระบวนการอันหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตร โดยได้จัดลำดับขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้ คือ
1.  การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
2.  การกำหนดจุดมุ่งหมาย
3.  การคัดเลือกและจัดเนื้อหาสาระ
4.  การกำหนดมาตรการวัดและการประเมินผล
5.  การนำหลักสูตรไปใช้
6.  การประเมินผลการใช้หลักสูตร
7.  การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร

รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของสงัด อุทรานันท์
            สงัด อุทรานันท์ (2532, น. 38) ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรโดยยึดหลักการพัฒนาหลักสูตรทั้งระบบ โดยแบ่งออกเป็นการร่างหลักสูตร หารนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผลหลักสูตรทั้งระบบอีกด้วย แบ่งออกเป็นขั้นตอนซึ่งสามารถแสดงเป็นรูปวัฏจักรของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรได้ดัง แผนภาพประกอบ






                        
                            รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
          กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (2541: 2) เปิดโอกาสให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรได้เอง โดยพัฒนา หลักสูตรท้องถิ่น และให้ความหมายว่า เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนหรือสร้างจากหลักสูตรแกนกลางที่ปรับให้เข้ากับสภาพชีวิตจริงของผู้เรียนตามท้องถิ่นต่างๆ หรือสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อผู้เรียน หลักสูตรท้องถิ่นมีความสอดคล้อง เหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เน้นการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ การใช้เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลในการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพชีวิตจริงของตนเอง สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวและท้องถิ่น
  รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่นำหลักสูตรแกนกลางปรับให้เข้ากับสภาพของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างไปตามท้องถิ่นต่างๆ มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหาของชุมชน
  การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางครูและผู้เรียนต้องร่วมกันศึกษาหลักสูตรแกนกลางที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนสร้างขึ้น กำหนดหมวดวิชาต่างๆ ที่ผู้เรียนแต่ละระดับชั้นต้องเรียน โดยวิเคราะห์หัวข้อของเนื้อหา ดังนี้
ศึกษาหลักสูตรแกนกลางในระดับที่นำมาจัดการเรียนการสอน (ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ทุกหมวดวิชา)
วิเคราะห์หัวข้อเนื้อหาที่ต้องพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นตามสภาพปัญหาของชุมชนที่สำรวจมาแล้ว และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น
พิจารณาหัวข้อเนื้อหาในหมวดวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องนำมาจัดหมวดหมู่ด้วยกัน ในลักษณะการบูรณาการเนื้อหา

ขั้นที่ 2 การจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาและความต้องการที่ส่งผลต่อผู้เรียน
นำสภาพปัญหาและความต้องการที่สำรวจและวิเคราะห์แล้วมาพิจารณาร่วมกับหัวข้อเนื้อหา หมวดวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรที่กำหนดเป็นหมวดวิชาแกนในการพัฒนาเป็นหลักสูตรโรงเรียนแล้วจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการหลังจากนั้นจัดลำดับความสำคัญตามสภาพปัญหาของท้องถิ่นที่พบ

ขั้นที่ 3 การเขียนแผนการสอน โดยดำเนินการดังนี้
 3.1 การกำหนดหัวข้อปัญหา (Theme) หัวข้อเนื้อหาของการเรียนการสอน
 3.2 การเขียนสาระสำคัญ (Concept) เป็นบทสรุปใจความสำคัญของเรื่อง เน้นความคิดรวบยอด หลักการ ทักษะหรือลักษณะนิสัยที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
 3.3 การกำหนดขอบเขตเนื้อหา ให้ระบุว่าหัวข้อเนื้อหาครอบคลุมและสัมพันธ์กับวิชาใด
 3.4 การกำหนดจุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทาง เป็นจุดประสงค์ที่คาดว่าผู้เรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติอย่างไรเมื่อเรียนจบเรื่องนั้นแล้ว
3.5 การกำหนดจุดประสงค์เฉพาะหรือจุดประสงค์นำทาง เป็นการกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อเรื่องย่อยที่ปรารถนาให้เกิดกับผู้เรียน นิยมเขียนในลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
3.6 การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กำหนดกิจกรรมตามขั้นตอนของทฤษฎีเชิงระบบ (System Approach)
3.7 สื่อการเรียนการสอน ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเรียนการสอนแต่ละหัวข้อเนื้อหาต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และสามารถจัดหาได้จากที่ใด โดยวิธีใด
  3.8 การประเมินผล เป็นการเขียนแนวทางการประเมินผลของการปฏิบัติกิจกรรมแต่ละขั้นตอนตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนรวบรวมผลงายไว้ นำเสนอครูประจำกลุ่ม

ขั้นที่ 4 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
 ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาโดยมีสถานศึกษาอำนวยความสะดวกและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตาสภาพจริง ซึ่งสถานศึกษาโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นผู้อนุมัติหลักสูตรที่ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาตามความต้องการทางนโยบายของรัฐ ความต้องการทางการศึกษาและความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน

ขั้นที่ 5 การประเมินผล
            การประเมินผลเน้นการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง (Authentic assessment) ซึ่งประเมินอิงความสามารถและพัฒนาการของผู้เรียนมุ่งเน้นความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นชีวิตจริงของผู้เรียนแต่ละคน สะท้อนให้เห็นสภาพของงานและสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติ โดยผู้เรียนเป็นผู้สร้างคำตอบด้านการแสดง การสร้างสรรค์ผลผลิตของงานเป็นการประเมินผลงานผู้เรียนที่ทำได้จริง ในทางปฏิบัตินิยมใช้วิธีการประเมินจากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความสามารถ ความก้าวหน้าของผู้เรียน จากการรวบรวมข้อมูล ผลผลิต การแสดงออก การประเมินจากสภาพจริง ในงานที่มีความหมายและมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนจะสะท้อนถึงความสามารถ การถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับ โครงสร้างและประมวลความรู้ ความคิดในขั้นสูงรวมทั้งคุณภาพของการแสดงออกและผลผลิตที่มีคุณภาพ